บูลิเมีย (โรคล้วงคอ) กินแล้วล้วงคอนั้นผิดปกติ อาการโรคทางจิตที่อันตราย!

เนื้อหาบทความ

อาการ, สาเหตุของ บูลิเมีย (โรคล้วงคอ) 1 ในโรคกลัวอ้วนที่อันตรายถึงชีวิต!

บูลิเมีย (โรคล้วงคอ) เป็น 1 ในโรคกลัวอ้วนที่มีอันตรายร้ายแรงมาก คนที่ป่วยเป็นโรคนี้มีพฤติกรรมทางจิตและทางกายที่ผิดปกติ ซึ่งความผิดปกติเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการรักษา มิเช่นนั้นอาจร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

อาการ, สาเหตุของ บูลิเมีย (โรคล้วงคอ)

ลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคบูลิเมียจะต้องมีความกลัวอ้วนเป็นหลัก ทำให้เมื่อทานอาหารเข้าไปแล้วจะรู้สึกผิดและกลัวอ้วน อีกทั้งมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับภาพลักษณ์ของตัวเอง ทำให้พวกเขาต้องพยายามกำจัดเอาอาหารที่เพิ่งกินเข้าไปออกมา โดยการกินแล้วล้วงคอให้อาเจียน การออกกำลังกายอย่างหักโหม การอดอาหาร การกินยาระบาย ยาขับปัสสาวะ การใช้สารอย่างอื่นเพื่อที่จะขับอาหารที่รับประทานเข้าไปแล้วให้ออกมา โดยทั้งหมดที่ทำไปเป็นเพราะอารมณ์เครียดและคุมตัวเองไม่ได้ซึ่งทุกวิธีล้วนไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง หรือเป็นหนทางของการมีสุขภาพดีแต่อย่างใด โดยทั่วไปลักษณะอาการของผู้ป่วยโรคบูลิเมียจะมีดังนี้

  • รับประทานอาหารปริมาณมากในช่วงเวลาสั้น ๆ
  • จำกัดปริมาณอาหาร และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด
  • กินแล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนอาหารที่รับประทานเข้าไป หรือออกกำลังกายอย่างหักโหมเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ หรือสวนทวารหลังรับประทานอาหาร
  • ใช้อาหารเสริมหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อลดน้ำหนัก
  • กังวลหรือกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น
  • หมกมุ่นอยู่กับน้ำหนักและรูปร่างของตนเอง
  • มีความคิดแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของตนเอง
  • ควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ได้
  • สภาวะอารมณ์เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น รู้สึกเครียด หรืออาจเป็น โรควิตกกังวล เป็นต้น
  • ในเพศหญิงประจำเดือนมาผิดปกติ

สาเหตุของบูลิเมียในทางการแพทย์ปัจจุบันยังคงไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ร่วมกัน ดังนี้

  • อายุ โรคบูลิเมีย มักพบได้มากในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงช่วงผู้ใหญ่ตอนต้น
  • เพศ เพศหญิงมีโอกาสเป็นโรคบูลิเมียมากกว่าเพศชาย
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงลำดับที่ 1 ป่วยเป็นโรคผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เป็นโรคซึมเศร้า ติดสุรา หรือติดยาเสพติด
  • สภาวะทางร่างกาย ภาวะขาดสารสื่อประสาทเซโรโทนินในสมอง หรือการมีน้ำหนักตัวมากในวัยเด็กและวัยรุ่นก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้
  • สภาวะทางจิตใจ สภาวะอารมณ์และปัญหาสุขภาพจิตบางอย่างอาจเสี่ยงป่วยเป็นโรคบูลิเมีย ได้ เช่น ความเครียด โรควิตกกังวล หรือเป็นผู้ที่มีความพึงพอใจในตนเองต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ การเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหรือส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจก็อาจเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การป่วยโรคนี้ได้เช่นกัน เช่น การถูกคุกคามทางเพศ เป็นต้น
  • ค่านิยมตามสื่อต่างๆ สื่อโทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต และนิตยสารแฟชั่นที่มีภาพประกอบเป็นนางแบบหรือดาราหุ่นผอมเพรียว อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเสี่ยงเป็นโรคล้วงคอ เนื่องจากสื่อเหล่านี้มักนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้ที่มีรูปร่างผอมพร้อมกับความสำเร็จและชื่อเสียง
  • อาชีพ นักกีฬา นักแสดง นักเต้น และนางแบบ เป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ เนื่องจากผู้ฝึกสอนหรือผู้ปกครองอาจคอยกระตุ้นให้ลดน้ำหนัก หรือจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารเพื่อสมรรถภาพร่างกายที่ดีขึ้น

คนที่กลัวอ้วนมักจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้มีหุ่นที่ดี ทางเลือกหนึ่งที่คนที่ป่วยเป็นโรคบูลิเมียนิยมใช้ ก็คือ การกินแล้วล้วงคอเพื่อให้อาเจียนเอาอาหารที่เพิ่งทานลงไปออกมา ทำให้อาหารเหล่านั้นไม่ผ่านการย่อยในร่างกาย อย่าคิดว่าแค่การเอาอาหารออกมาแบบนี้จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรงอะไร เพราะความร้ายกาจของการกินแล้วล้วงคอไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย มันเป็นโรคที่ต้องรักษา และต้องแก้ปัญหาอีกมากมายที่จะตามทีหลัง แนะนำ วิธีการลดน้ำหนักแบบคีโต


วิธีรักษาบูลิเมีย (โรคล้วงคอ) ต้องรักษาและบำบัดทางกายและใจ

 ในการรักษาโรคบูลิเมีย (โรคล้วงคอ) นั้น อาจจำเป็นต้องใช้วิธีรักษาร่วมกันมากกว่า 1 วิธี ซึ่งการรักษาด้วยการฟื้นฟูสภาพจิตร่วมกับการใช้ยาต้านเศร้า และการให้ความร่วมมือกับแพทย์ นักจิตบำบัด เพื่อน และครอบครัว อาจเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคนี้  โดยโรคบูลิเมียสามารถรักษาและบำบัดได้ ดังนี้

วิธีรักษาบูลิเมีย (โรคล้วงคอ)

  • จิตบำบัด เป็นวิธีรักษาด้วยการพูดคุยบำบัดทางจิตกับผู้ให้คำปรึกษาพิเศษหรือจิตแพทย์ ซึ่งวิธีจิตบำบัดที่ใช้รักษาโรคบูลิเมีย มีดังนี้
  1. การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) ซึ่งประกอบด้วยการสร้างพฤติกรรมใหม่ เช่น การจดบันทึกอาหารที่ทาน (Diary Keeping) การวิเคราะห์เหตุนำเหตุร่วม การปรับความคิดและมุมมองเรื่องน้ำหนักและภาพลักษณ์ เป็นต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจและเรียนรู้ว่าการล้วงคอหรือความเชื่อเกี่ยวกับการกำจัดอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ นั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ และปรับทัศนคติของผู้ป่วยเกี่ยวกับอาหารและการรับประทานอาหารไปในทางที่เหมาะสม
  2. การบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal Therapy) ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยปรับความคิด ทักษะด้านการสื่อสาร และทักษะการแก้ปัญหาของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้
  3. การบำบัดแบบครอบครัว (Family-Based Therapy) ครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรค Bulimia ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น โดยการบำบัดวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ปกครองควบคุมพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วย และเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบต่อครอบครัวจากโรคนี้ได้
  • การใช้ยารักษา การใช้ยาต้านเศร้าควบคู่กับการพูดคุยบำบัดทางจิตอาจช่วยลดอาการของโรค Bulimia ได้ โดยยาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรค Bulimia คือ ยาฟลูอ็อกซีทีน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม SSRI (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors)
  • โภชนศึกษา แพทย์และนักโภชนาการอาจช่วยวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีน้ำหนักตัวเป็นปกติ มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังได้รับคำแนะนำในการลดน้ำหนักอย่างปลอดภัยอีกด้วย
  • การรักษาในโรงพยาบาล แม้ว่าผู้ป่วยโรคบูลิเมีย อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเสมอไป แต่กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากและมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาทันที

นอกจากการรักษาและบำบัดโดยจิตแพทย์แล้ว ผู้ป่วยโรคบูลิเมียยังต้องรักษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับร่างกายด้วย ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับร่างกายมีอยู่หลายประเด็นมาก เช่น ฟันเสีย หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง ประจำเดือนไม่มา ขาดสารอาหารที่จำเป็น เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดก็มีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้ป่วยโรคบูลิเมียหายเป็นปกติได้เช่นกัน คนใกล้ชิดต้องมีการปรับความสัมพันธ์กับผู้ป่วย เพื่อให้คนรอบข้างช่วยกันสนับสนุนการรักษาให้คนไข้โรคนี้หายจากโรคได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างมากและช่วยสนับสนุนจิตใจของคนไข้ให้กลับมาเป็นปกติได้ดังเดิมอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ก็นับได้ว่าเป็น โรคทางจิตเวช หรือ ปัญหาทางสุขภาพจิตที่ไม่ควรมองข้าม


อ้างอิง