คุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? ใช้ ยาแก้ซึมเศร้า แล้วหายจากโรคได้ไหม?

เนื้อหาบทความ

เคยสังเกตไหมว่าคนรอบข้างหรือแม้แต่ตัวคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? ซึ่งการสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีอาการในข้อ 1 หรือ 2 อย่างน้อย 1 ข้อ โดยหากมีอาการอย่างน้อย 5 ข้อขึ้นไปยาวนานเป็นอยู่เกือบตลอดเวลาแทบทุกวันติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป หรือที่หลายคนอาจจะสงสัยกันว่าถ้าใช้ ยาแก้ซึมเศร้า แล้วหายจะจากโรคได้ไหม?

เกณฑ์การวินิจฉัยว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า?

ยาแก้ซึมเศร้า

  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง มีอารมณ์ซึมเศร้าแทบทั้งวัน (แต่ในเด็กและวัยรุ่นอาจเป็นอารมณ์หงุดหงิดก็ได้)
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ ความสนใจหรือความเพลินใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมากแทบทั้งวัน
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป หรือมีการเบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ (น้ำหนักเปลี่ยนแปลงมากกว่าร้อยละ 5 ต่อเดือน)
  4. มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข หรือเฉื่อยชา เชื่องช้าลงที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. สมาธิลดลง ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อยๆ

ทั้งนี้ แนวโน้มจะเกิดอาการทวีความรุนแรงของตัวโรคซึมเศร้าจะยิ่งสูงขึ้นในกรณีโรคเกิดขึ้นกับคนอายุน้อย คนที่มีนิสัยชอบแยกตัวอยู่คนเดียว คนที่ขาดคนที่เข้าใจและใส่ใจดูแล มีปัญหาการใช้สารเสพติด มีกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคทางจิตเวชร่วมหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โรคทางสมอง และโรคทางกายที่รุนแรงอื่นๆ ร่วมด้วย ผู้ที่เคยมีประวัติซึมเศร้าอยู่เดิมแต่ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการ “ดิ่ง” อาการเรียกของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อยู่ในช่วงควบคุมอารมณ์ได้ลำบากและมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง อาจทำให้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอีกด้วย คุณอาจสนใจบทความ โรคทางจิตเวช ปัญหาทางสุขภาพจิตที่หลายคนต้องเผชิญ


โรคซึมเศร้าหายได้ไหม? และข้อควรทราบเมื่อรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า 

โรคซึมเศร้าหายได้ไหมนะ หลายๆ คนอาจสงสัย เพราะผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักรู้สึกว่าตนเองไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจ ต้องรับความกดดันต่างๆ แต่ผู้เดียว รู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากจะสู้ปัญหาอะไรๆ อีกแล้ว  แต่ขอให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ได้เป็นอยู่ตลอดไป หลายๆ คนสงสัยว่าโรคซึมเศร้าหายได้ไหม? คำตอบคือโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาการกำเริบของโรค เมื่อหายแล้วก็อาจเป็นขึ้นมาใหม่ได้เหมือนกัน ประมาณกันว่าร้อยละ 50- 75 ของผู้ป่วยเป็นมากกว่าหนึ่งครั้ง ยิ่งกลับมากำเริบก็ยิ่งมีโอกาสเป็นอีกในครั้งต่อไปมากขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นมากกว่า 2 ครั้งอาจต้องกินยาป้องกันไประยะยาวหลายๆ ปี

ข้อควรทราบเมื่อรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า 

เมื่ออาการของโรคดีขึ้น มุมมองต่อสิ่งต่างๆ ในแง่ลบจะเปลี่ยนไป ความมั่นใจในตนเองจะมีเพิ่มขึ้น มองเห็นปัญหาต่างๆ ในมุมมองอื่นที่แตกต่างออกไปจากเดิมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กิน ยาแก้ซึมเศร้า การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์หรืออาจจะเป็นปี อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป  การรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้ามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว โดยมีข้อควรทราบเกี่ยวกับการรักษาด้วยยาแก้ซึมเศร้า ดังนี้

  1. อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา โดยเฉพาะอาการซึมเศร้า โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด แต่ยาก็ยังมีส่วนช่วยในระยะแรกๆ โดยทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดีขึ้น เจริญอาหารขึ้น เริ่มรู้สึกมีเรี่ยวแรงจะทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายจะเริ่มลดลง
  2. ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ หรือยาระบายก็ตาม แม้ว่าโอกาสที่เกิดอาการข้างเคียงจะมากน้อย และมีความรุนแรงต่างกันไป การใช้ยาจึงควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากมีความจำเป็นที่ทำให้กินยาตามสั่งไม่ได้ และควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่ และรู้ไหม? ความเครียดหรือซึมเศร้าก็มีผลต่อลำไส้
  3. ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ไม่กล้ากินยามากตามที่แพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวว่าจะติดยา หรือกลัวว่ายาจะไปสะสมอยู่ในร่างกาย แต่ตามจริงแล้วยาแก้ซึมเศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเป็นเพราะว่ายังไม่หายจากอาการของโรค การกินๆ หยุดๆ หรือกินไม่ครบขนาดกลับจะยิ่งทำให้การรักษาไม่ได้ผลดี และรักษายากมากขึ้น
  4. ยาแก้ซึมเศร้ามีอยู่เป็นสิบขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่าตัวไหนอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว หรือลางเนื้อชอบลางยา ซึ่งโดยรวมแล้วก็มักจะรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นอยู่กับว่าแพทย์มีความชำนาญ คุ้นเคยกับการใช้ยาขนานไหน และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่ ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาแก้ซึมเศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรกๆ อาจเป็นเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่เสียมากกว่า ถ้าแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้ว และเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วผู้ป่วยยังอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจเปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่นต่อไป

ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่มที่ใช้ปัจจุบันกันมาก คือ ยากลุ่ม SSRI  ซึ่งกลไกสำคัญคือจะไปยับยั้งการดูดซึมซีโรโตนินกลับเข้าเซลล์ (serotonin reuptake inhibitor: SSRI) ทำให้ซีโรโตนินเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนต่อระหว่างเซลล์ประสาท ปัจจุบันมีหลายขนานผลิตได้โดยองค์การเภสัชกรรมและบริษัทยาในประเทศ เนื่องจากหมดสิทธิบัตรยาแล้ว ทำให้ราคายาถูกลงมาก ยาขนานที่ปัจจุบันใช้เป็นยาขนานแรกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้แก่ยา fluoxetine และ sertraline ในผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ยาที่ใช้มักจะมีขนาดต่ำกว่าขนาดที่ใช้กับคนปกติทั่วไป ยาบางตัวอาจมีปฏิกิริยากับยาแก้ซึมเศร้าที่กิน ดังนั้นผู้ป่วยที่กินยาอื่นๆ จึงควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง


ยาแก้ซึมเศร้าและอาการข้างเคียงที่อาจพบได้

ยาแก้ซึมเศร้า ที่ใช้กันจะมีชื่ออยู่ 2 แบบ ได้แก่ ชื่อสามัญ และชื่อการค้า ชื่อสามัญคือชื่อที่บอกองค์ประกอบหรือลักษณะยา ส่วนชื่อการค้าคือชื่อที่แต่ละบริษัทตั้งขึ้นเพื่อให้รู้ว่าผลิตจากบริษัทของตน ยาชื่อสามัญตัวเดียวอาจมีชื่อการค้าได้หลายๆ ชื่อถ้ามีผู้ผลิตหลายบริษัท เช่น ยาแก้ปวดชนิดหนึ่งมีชื่อสามัญว่า พาราเซตามอล และมีชื่อการค้าหลายชื่อเช่น คาปอล เซตามอล เป็นต้น ซึ่งทุกยาทุกชื่อก็ได้ผลเช่นเดียวกันเพราะเป็นยาตัวเดียวกัน ซึ่งรายชื่อยาแก้ซึมเศร้าที่มีใช้ในประเทศไทย มีดังนี้

ชื่อสามัญ
(ไทย)

ชื่อสามัญ
(อังกฤษ)
ชื่อการค้า ขนาด
เม็ดละ
(มิลลิกรัม)
ขนาดในการรักษา

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้

อะมิทริปไทลีน Amitriptyline 10, 25, 50 75-150 ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก
นอร์ทริปไทลีน Nortriptyline 10,25,50 75-150 ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก
อิมิพรามีน Imipramine 25 75-150  ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก
ด็อกเซปิน Doxepine Sinequan 25 75-150  ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก
โคลมิพรามีน Clomipramine Anafranil 10,25 75-150 ง่วงซึม ปากคอแห้ง ท้องผูก
ทราโซโดน Trazodone Desirel 50 150-350 ง่วงซึม มึนศีรษะ
ไมแอนเซอรีน Mianserin Tolvon 10, 30 60-90 ง่วงซึม ปวดศีรษะ
ฟลูออกเซตีน Fluoxetine Fluoxetine 20 20-40 พะอืดพะอม กระวนกระวาย หลับยาก
ฟลูวอกซามีน Fluvoxamine Faverin 50,100,150 100-300 คลื่นไส้ กระวนกระวาย หลับยาก
พารอกเซตีน Paroxetine Seroxat 20 20-40 กระวนกระวาย คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร
เอสซิตาโลแพรม Escitralopram Lexapro 20 20-40 พะอืดพะอม กระวนกระวาย
เซอร์ทราลีน Sertraline Sertraline 50 50-100 คลื่นไส้ กระวนกระวาย
เวนลาแฟกซีน Venlafaxine Effexor 75, 150 150-300 กระวนกระวาย คลื่นไส้
เมอร์ทาเซปีน Mirtazapine Remeron 30 15-45 ง่วงซึม ปากคอแห้ง
ไทอะเนปทีน Tianeptine Stablon 12.5 25-50 กระวนกระวาย คลื่นไส้
บิวโพรไพออน Bupropion Wellbutrin 150, 300 150-300 คลื่นไส้ กระวนกระวาย
ดูลอกเซทีน Duloxetine Cymbalta 30, 60 60-90 พะอืดพะอม อ่อนเพลีย ง่วงซึม

โดยสรุปแล้วผลข้างเคียงจากยาแก้ซึมเศร้าที่พบบ่อยคือความว่องไวจะลดลงและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ง่วงซึม มึนงง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยาแก้โรคซึมเศร้าในปัจจุบันเพื่อให้เหมาะสมกับแนวทางการรักษา จึงมีรูปแบบที่แก้อาการง่วงซึมดังกล่าวให้ผู้ป่วยเลือกใช้และหายจากอาการซึมเศร้าที่ไม่ก่อให้เกิดการเสพติดยาของผู้ป่วย เมื่อหยุดยาหลังการรักษาต่อเนื่องประมาณ 2 ปี ผู้ป่วยที่ปฏิบัติรักษาก็จะหายขาดและกลับมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความสุข  ดังนั้น หากทุกคนเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดอาการป่วย ไม่ใช่ความอ่อนแอของตัวบุคคล ก็จะช่วยกันรักษาโรคนี้ให้หายไปได้ บทความแนะนำ ไบโพล่าร์ เกิดจากอะไร?


อ้างอิง