โรคทางจิตเวช ปัญหาทางสุขภาพจิตที่คนไทยไม่ควรมองข้าม!

เนื้อหาบทความ

โรคทางจิตเวช ปัญหาทางสุขภาพจิตที่คนไทยไม่ควรมองข้าม!

ปัญหาทางสุขภาพจิต ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินชีวิตในสังคมให้มีความสุข ปัญหาทางสุขภาพจิตเหล่านี้จะแสดงอาการทั้งทางจิตใจ และทางร่างกาย หรือเรียกทางการแพทย์ว่า โรคทางจิตเวช สำหรับคนไทยที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชนั้นมีไม่น้อย ขณะที่ผู้ป่วยบางรายรู้ตัวว่าตนเองป่วย บางรายก็ไม่รู้ตัว ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้ป่วยบางรายยังสับสนในอาการป่วยทางจิตเวชบางโรค และเข้าใจผิดคิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคทางกาย แต่เมื่อทำการตรวจร่างกายจะไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทางจิตเวช เพื่อให้ผู้ป่วยได้สังเกตตนเอง รวมถึงการสังเกตคนรอบข้างว่าเข้าข่ายเป็นผู้ป่วยหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การรับมือและการรักษาที่ถูกต้อง

โรคทางจิตเวช ปัญหาทางสุขภาพจิตที่คนไทยไม่ควรมองข้าม!

โรคทางจิตเวช สาเหตุคืออะไร? แล้วแบ่งได้เป็นกี่ประเภท? 

โรคทางจิตเวช เป็นกลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติหรือความบกพร่องทางจิตใจ รวมไปถึงการผิดปกติของพฤติกรรมโดยธรรมชาติที่มีสาเหตุมากจากปัจจัยหลายด้านด้วยกัน ได้แก่

  1. พันธุกรรม และร่างกาย ที่เกิดจากการสืบสายเลือดของผู้ที่มีปัญหาทางจิต อาจมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางจิตได้ง่ายกว่าคนทั่วไปเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นจากปัจจัยต่าง ๆ รวมไปถึงความบกพร่องของร่างกายขณะกำเนิด
  2. ความผิดปกติทางชีวเคมี ที่เกิดจากการได้รับสารเคมีหรือสารเสพติด รวมถึงปัจจัยที่เกิดจากการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ที่มีผลต่อการสร้างการหลั่งของสารเคมีในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสมอง สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตได้ง่าย
  3. ปัจจัยทางด้านสังคม อันเกิดจากเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ รวมไปถึงภาวะแรงกดดันทางสังคมจากการใช้ชีวิต อาทิ การประสบอุบัติเหตุ การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การถูกปฏิเสธจากสังคมหรือถูกซ้ำเติมในปมด้อยของตนจากสังคม เป็นต้น
  4. ปัจจัยทางด้านปัญญา และจิตใจ ที่เกิดจากการขาดวิจารณญาณในการรับฟัง การพูด การกระทำ และการตัดสินใจต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างไม่ถูกต้อง รวมถึงภาวะทางจิตใจที่ขาดความเข้มแข็ง แน่วแน่ และอ่อนไหวง่าย สิ่งเหล่านี้มีส่วนนำมาซึ่งกระบวนการทางจิตที่ผิดปกติได้ง่าย

โรคทางจิตเวช แบ่งได้เป็น 3 ประเภท ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก ได้แก่

1. โรคจิต (Psychosis)

เป็นโรคทางจิตที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากกว่าโรคประสาท จากภาวะทางความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปกติไปจากคนทั่วไป แต่ผู้ป่วยเองจะไม่สามารถแยกแยะว่าพฤติกรรมของตนเองผิดแปลกไปจากคนทั่วไปจากภาวะการหลงผิดทางจิต โรคจิตเวชประเภทนี้แบ่งตามสาเหตุออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

  •  โรคจิตที่เกิดจากความผิดปกติทางกาย และสารเคมี
    • โรคสมองเสื่อมในวัยชรา (senile and presenile dementia)
    • โรคจิตจากสุรา (alcoholic psychoses)
    • โรคจิตชั่วคราวจากสาเหตุฝ่ายกาย (transient organic psychotic conditions)
    • โรคจิตจากยา (drug psychoses)
  •  โรคจิตอื่น ๆ ที่เกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ และจิตใจ
    • โรคจิตเภท (schizophrenia)
    • โรคจิตทางอารมณ์ (affective psychoses)
    • โรคหลงผิด (Delusional Disorder)

2. โรคประสาท (Neurosis)

โรคประสาทถือเป็นโรคทางจิตประเภทหนึ่งที่มีอาการรุนแรงน้อยกว่าโรคจิต อาการโดยมากจะเป็นเพียงสภาวะการแปรปรวนทางจิตใจ การวิตกกังวล ภายใต้การใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงออกมาขณะที่ผู้ป่วยเองสามารถรับรู้ จดจำ และเข้าใจในพฤติกรรมของตัวเองได้ แบ่งชนิดตามอาการของโรค ได้แก่

  • โรควิตกกังวล (Anxiety Neurosis)
  • หวาดกลัว (Phobic Neurosis)
  • ย้ำคิดย้ำทำ (Obsessives Compulsive Neurosis)
  • ซึมเศร้า (Depressive Neurosis)
  • บุคลิกวิปลาส (Depersonalization)

3. โรคปัญญาอ่อน (mental retardation)

โรคนี้เกิดขึ้นจากสภาวะระดับสติปัญญาที่ต่ำกว่าปกติตามวัยของคนทั่วไปที่ควรจะมี อันเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น พันธุกรรม สารเคมี  ภาวะของโรค และปัจจัยแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น

โรคทางจิตเวช สาเหตุคืออะไร? แล้วแบ่งได้เป็นกี่ประเภท? 

โรคทางจิตเวชต่าง ๆ ที่คนไทยควรรู้จัก และอาการต่าง ๆ ที่สังเกตได้

การสังเกตว่าตนเองและคนรอบข้างที่มีอาการเกี่ยวข้องกับโรคทางจิตเวชต่าง ๆ หรือไม่เป็นเรื่องสำคัญ หากพบความผิดปกติของตนเองหรือคนรอบข้าง ที่มีลักษณะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต เช่น ไม่สามารถไปทำงานได้ มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่น พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม แสดงว่าควรได้รับการปรึกษา โดยโรคทางจิตเวชต่าง ๆ ที่คนไทยควรรู้จัก และอาการต่าง ๆ ที่สังเกตได้ มีดังนี้

โรคแพนิค

โรคแพนิค โรคแพนิคเป็นโรคตื่นตระหนก เกิดขึ้นจากระบบประสาทอัตโนมัติมีการทำงานที่ไวต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้มีอาการแพนิค โดยจะมีความวิตกกังวลอย่างมากและเกินความสมเหตุผล ถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือมีความกังวลต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งจำเพาะ เช่น การเข้าสังคม สิ่งของจำเพาะ สถานการณ์จำเพาะบางอย่างเนื่องจากยังมีผู้ป่วยบางรายไม่รู้จักหรือยังขาดความรู้เกี่ยวกับโรคแพนิค เมื่อมีอาการมักเข้าใจผิดและคิดว่าตนเองเป็นโรคทางกาย เช่น โรคหัวใจ แต่เมื่อพบแพทย์แล้วตรวจคลื่นหัวใจจะพบว่าร่างกายปกติทุกอย่าง และอาจต้องใช้เวลาอยู่นานกว่าจะรู้ตัวว่าตนเองป่วยด้วยโรคแพนิค ถือเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนไทยควรทำความรู้จัก

อาการของโรคแพนิค มีอาการแพนิคเกิดขึ้นบ่อย ๆ โดยคาดไม่ได้ว่าจะเกิดเมื่อไร ได้แก่ ตกใจกลัว หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด แน่นหน้าอก เวียนศีรษะ คล้ายจะเป็นลม หรือเหมือนกับจะถึงชีวิต โดยการเกิดครั้งแรกจะเกิดขึ้นเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีเรื่องกดดันหรือถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว เช่น เกิดขึ้นตอนกำลังจะขับรถขึ้นทางด่วน ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้าขึ้นทางด่วน เป็นต้น และเมื่อมีครั้งที่ 1 มักมีครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ตามมาเรื่อย ๆ กล่าวคือเมื่อเจอกับสถานการณ์กระตุ้นนั้นอีกครั้ง ก็จะมีอาการแพนิคเกิดขึ้นอีก อาการแพนิคแต่ละครั้งจะเป็น 10-20 นาที เมื่อหายก็จะหายปกติเลย หลังจากมีอาการแพนิค จะมีอาการต่อไปนี้ตามมาเป็นเวลานานอย่างน้อย 1 เดือน จนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ได้แก่

  • กังวลมากเกินไปจนไม่กล้าทำอะไร กังวลอยู่ตลอดเวลาว่าจะมีอาการเกิดขึ้นมาอีกหรือกลัวผลที่ตามมา เช่น ควบคุมตนเองไม่ได้ เป็นบ้า
  • มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยเกี่ยวเนื่องกับการมีอาการนี้ เช่น ไม่กล้าไปไหนถ้าไม่มั่นใจว่าจะมีคนช่วยได้ไหม หมกมุ่นกังวลกลัวเป็นโรคหัวใจ

โรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่คนในปัจจุบันเป็นกันมาก ความสำคัญของโรคนี้คือผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษามีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง หากมีอาการของโรคซึมเศร้านานเกิน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินว่าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่

อาการของโรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ เบื่อหน่าย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง บางรายอาจไม่รู้สึกเศร้าแต่จะเบื่อหน่ายทุกอย่างรอบตัว และไม่รู้จะอยู่ต่อไปเพื่ออะไร สูญเสียสมาธิ ประสิทธิภาพการทำงานลดลง จนทำให้ส่งผลเสียต่อตนเอง ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ทำให้ขาดรายได้ไปจุนเจือตนเองและครอบครัว ทั้งนี้ อาการของโรคซึมเศร้ามีรายละเอียดดังนี้

  • อารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เศร้า หดหู่ สะเทือนใจง่าย ร้องไห้บ่อย
  • ความคิดเปลี่ยนแปลง มองทุกอย่างแย่ไปหมด รู้สึกไร้คุณค่าในตนเอง หรือคิดว่าตนเองเป็นภาระของผู้อื่น มองเห็นแต่ความผิดพลาดของตนเอง รู้สึกสิ้นหวัง อาจมีความคิดอยากตาย
  • สมาธิความจำแย่ลง หลงลืมง่าย จิตใจเหม่อลอย ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  • มีอาการทางร่างกายต่าง ๆ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหัว เมื่อยตัว

โรคจิตเภท

โรคจิตเภท เป็นโรคที่คนไข้มีความคิดความอ่าน การรับรู้โลกของความเป็นจริงผิดไปจากเดิม หากไม่ได้เข้ารับการรักษาในระยะยาวคนไข้ก็จะมีอาการมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การดำเนินโรคแย่ลง จึงควรพาคนไข้มาพบจิตแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ ที่เริ่มมีอาการ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

อาการของโรคจิตเภท ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน เช่น มีอาการหูแว่ว เห็นภาพหลอน มองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น และจะแสดงออกโดยการพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว มีความหลงผิดหรือหวาดระแวง แยกตัวออกจากสังคม ไม่ดูแลตนเอง เป็นนานเกิน 6 เดือน หากเป็นแล้วไม่รักษาตั้งแต่ต้น หรือปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้การรักษามีความยุ่งยาก และผลการรักษาไม่ดีนัก โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่จะต้องใช้ยาไปตลอดชีวิต ปัญหาของโรคนี้คือผู้ป่วยบางรายเมื่อพบว่าตนเองอาการดีขึ้น มักคิดว่าหายแล้วและหยุดใช้ยา ทำให้อาการกำเริบขึ้นมาอีก โดยอาการมักเกิดขึ้นเมื่อหยุดยาไปเป็นเวลาหลาย ๆ เดือน เช่น 6-7 เดือน ผู้ป่วยจะต้องทำการเริ่มต้นรักษาใหม่ทั้งหมด คุณอาจจะสนใจ บูลิเมียหรือโรคล้วงคอ โรคทางจิตที่อันตรายอีกหนึ่งโรค

โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว

โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ของผู้ป่วยมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่าง ช่วงซึมเศร้าและช่วงที่อารมณ์ดีเกินปกติ (ช่วงแมเนีย)

อาการของโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว โดยในช่วงซึมเศร้าจะมีอาการหดหู่ ท้อแท้ สิ้นหวัง อาการช่วงนี้จะเหมือนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อาการจะคงอยู่ติดต่อกันนานหลายเดือนแล้วหายไปเหมือนคนปกติก่อนจะเข้าสู่ช่วงอาการแมเนีย ซึ่งจะมีอารมณ์คึกคัก มีพลัง อยากทำหลายอย่าง กระฉับกระเฉง นอนน้อย ใจดี มนุษยสัมพันธ์ดี อารมณ์ดี แต่มีปัญหาในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง บางรายพบว่าอยากทำอะไรแล้วต้องได้ทำทันที เช่น อยากไปเที่ยวต่างประเทศ ก็จัดการจองตั๋วเลยทั้งที่ยังไม่ทันลางาน เมื่อมีคนขัดใจผู้ป่วยจะฉุนเฉียวมาก หงุดหงิดง่าย ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้เลย

1. ลักษณะอาการช่วงซึมเศร้าของโรคไบโพลาร์

  • มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
  • มีความสนใจหรือความสุขในกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งหมดหรือแทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก เป็นส่วนใหญ่ของวัน แทบทุกวัน
  • น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นอย่างมีความสำคัญ เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารแทบทุกวัน
  • นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไปแทบทุกวัน
  • กระสับกระส่ายหรือเชื่องช้าแทบทุกวัน
  • อ่อนเพลีย หรือไร้เรี่ยวแรงแทบทุกวัน
  • รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสม แทบทุกวัน
  • สมาธิหรือความสามารถในการคิดอ่านลดลง หรือตัดสินใจอะไรไม่ได้ แทบทุกวัน
  • คิดอยากตายอยู่เรื่อย ๆ

2. ลักษณะอาการช่วงแมเนียของโรคไบโพลาร์

  • มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ หรือหงุดหงิดมากเกินปกติ
  • รู้สึกว่าตนเองเก่ง หรือมีความสำคัญมาก
  • ต้องการนอนลดลง
  • ความคิดพรั่งพรู แล่นเร็ว
  • มีพลัง มีกิจกรรมหรือโครงการที่อยากทำหลายอย่าง
  • วอกแวก สนใจไปทุกอย่าง
  • หุนหันพลันแล่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
  • พูดมากหรือพูดไม่หยุด
  • ไม่ตระหนักว่าตนเองผิดปกติไปจากเดิม

บทความแนะนำ รับมืออย่างไรเมื่อต้องเผชิญกับโรคไบโพลาร์

โรคสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อม เป็นอีกโรคที่น่ารู้จัก เนื่องจากประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งโรคสมองเสื่อมก็เป็นโรคที่ผู้สูงอายุเป็นกันค่อนข้างมากพบมากในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ในคนที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมจะไม่ใช่คนที่หลงลืมในลักษณะใจลอย เช่น วางกุญแจไว้แล้วลืมว่าตนเองวางไว้ตรงไหน แบบนั้นเป็นอาการใจลอย สมาธิไม่ได้อยู่กับเรื่องที่ทำ ณ ขณะนั้น อาจมัวคิดถึงเรื่องอื่นอยู่ในขณะที่วางกุญแจ ทำให้หลงลืม แต่ไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม

อาการของโรคสมองเสื่อม จะมีลักษณะคือไม่สามารถจดจำสิ่งที่เรียนรู้ใหม่ได้ หรือสามารถเล่าเรื่องในอดีตได้ แต่ไม่สามารถจำได้ว่าเมื่อเช้ากินอะไรมา เป็นต้น ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ มีสาเหตุที่รักษาให้หายได้ จึงควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย แต่สาเหตุส่วนมากเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เช่น อัลไซเมอร์ โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้คนไข้ความจำแย่ลง มีความคิดอ่านที่ลดลง สื่อสารได้ลดลง แม้จะรักษาไม่หาย แต่มีวิธีการดูแลคนไข้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หากทั้งคนไข้และญาติมีรู้จักวิธีการดูแล ก็จะสามารถปรับตัวและรับมือกับโรคนี้ได้เหมาะสมขึ้น

ปัญหาจากการการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การใช้สารเสพติดต่าง ๆ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนเกินขนาด นับว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ทำให้มีปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่มีสมาธิในการทำงาน ไม่สนใจดูแลตนเองและครอบครัว จนกระทั่งไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ การใช้สารพวกนี้มาก ๆ ยังมีผลต่อสมองและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายในระยะยาวอีกด้วย หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีปัญหานี้ สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดได้ หากเลิกแอลกอฮอล์ได้ย่อมส่งผลลัพธ์ที่ดีต่อสุขภาพ แน่นอน

ปัญหาจากการการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สรุป

โรคทางจิตเวชต่าง ๆ ที่คนไทยควรรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นโรคแพนิค, โรคซึมเศร้า, โรคจิตเภท, โรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว, โรคสมองเสื่อม และปัญหาจากการการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นโรคที่มีความสำคัญและมีผลต่อสุขภาพจิตของคนเราเป็นอย่างมาก โดยเป็นโรคที่พบได้บ่อย และส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม มีผลต่อการใช้ชีวิตของคนโดยรวมเป็นอย่างมาก หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการของโรคดังกล่าว ก็ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาทันที เพื่อเราจะได้มีสุขภาพจิตที่ดี และคุณภาพชีวิตที่ดี


อ้างอิง